เทคนิคการเย็บเล่ม  
การเย็บเล่มสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ บิล ไดอารี่ ฯลฯ มีให้เลือกหลายวิธี ได้แก่
เข้าเล่มแบบไสกาว (ไสสันทากาว)
เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด เพราะเข้าเล่มได้เรียบร้อยสวยงามและราคาถูก เหมาะสำหรับหนังสือเล่มที่มีความหนาระดับหนึ่งประมาณ 70 หน้าขึ้นไป เช่น พ็อคเก็ตบุคส์ ตำรา หรือนิตยสาร การเข้าเล่มแบบนี้กางหนังสือออกได้ไม่เต็มที่ วิธีเข้าเล่มแบบไสกาว เขาจะนำกระดาษที่เรียงหน้าเป็นเล่มแล้ว มาเข้าเครื่องไสด้านข้างให้เป็นขุยก่อนแล้วจึงทากาว และหุ้มด้วยปกหนังสือในที่สุด
เข้าเล่มแบบเย็บมุงหลังคา หรือเย็บอก
แบบนี้นิยมใช้เย็บหนังสือที่มีจำนวนหน้าน้อยๆ ไม่เกิน 80 หน้า (ไม่สามารถทำให้สันมีความหนาได้) หรือสมุดของนักเรียนนักศึกษา วิธีการก็คือ เอากระดาษทั้งเล่มมาเรียงกันแล้วพับครึ่ง จากนั้นใช้เครื่องลวดเย็บลวดตรงแนวพับ 2-3 ตัว
เข้าเล่มแบบเย็บกี่
เป็นการเข้าเล่มหนังสือที่มีความแข็งแรงที่สุด (แต่แพงที่สุด) เหมาะสำหรับเข้าเล่มหนังสือที่มีความหนามากๆ เช่น พจนานุกรม สารานุกรม ตำราเล่มใหญ่ๆ วิธีการยุ่งยากพอสมควร โดยเอากระดาษทั้งเล่มมาแยกออกเป็นส่วนย่อย แล้วเย็บแยกแต่ละส่วนเป็นเล่มเหมือนเย็บมุงหลังคา แต่ใช้ด้ายเย็บ จากนั้นเอาเล่มย่อยๆ มาร้อยรวมกันเป็นเล่มใหญ่อีกที แล้วจึงหุ้มด้วยปกอีกชั้นหนึ่ง
เข้าเล่มโดยเข้าห่วง
การเข้าห่วง มีข้อดีที่ทำให้สามารถกางหนังสือออกจนสุดได้ นิยมใช้สำหรับงานพิมพ์ที่ไม่หนาเกินไป และทำจำนวนน้อย เช่น ปฏิทิน ไดอารี่ หรือสมุดบันทึก อาจเลือกใช้ห่วงพลาสติก หรือห่วงเหล็กก็ได้ ห่วงเหล็กจะแข็งแรงกว่า แต่ราคาก็แพงกว่าเช่นกัน
เข้าเล่มกาวหัว
การเข้าเล่มแบบนี้ใช้สำหรับพวกใบเสร็จต่างๆ สมุดฉีก กระดาษโน้ต คูปองส่วนลด ฯลฯ เป็นการเข้าเล่มสำหรับให้ฉีกออกไปใช้ได้ง่าย วิธีการก็ง่ายมาก เอากระดาษมาเรียงกันเป็นตั้ง แล้วเอากาวทาที่สันตรงหัวกระดาษ จึงได้ชื่อว่าการเข้าเล่มแบบ "กาวหัว"